เปิดข้อมูลศักยภาพ จ.กระบี่ ผลิตไฟฟ้าด้วยเศษปาล์มและน้ำเสียได้มากพอ-เหลือใช้
ข้อถกเถียงต่อความเหมาะสมในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ มีการศึกษาข้อดีข้อเสียกันมานาน มูลนิธินโยบายสุขภาวะ เปิดเผยข้อมูลว่า ยังมีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเป็นทางเลือกอื่นแทนการใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง ซึ่งนอกจากจะทำให้มีความมั่นคงทางพลังงาน ยังสร้างรายได้ให้ชุมชนและมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่า
มูลนิธินโยบายสุขภาวะ เปิดเผยข้อมูลจากการศึกษาเรื่อง การผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานหมุนเวียน จากน้ำเสียและเศษปาล์ม ซึ่งเป็นวิธีการผลิตกระแสไฟฟ้าที่มีอยู่แล้วในพื้นที่กระบี่ ขณะที่ทีมข่าว PPTV เคยลงพื้นที่ไปทำรายงานพิเศษเรื่องนี้ด้วย
รายงานการศึกษาระบุว่า การผลิตกระแสไฟฟ้าจากน้ำเสียและเศษปาล์มมีอยู่แล้วที่จังหวัดกระบี่ 42 เมกะวัตต์ และมีศักยภาพผลิต เพิ่มได้อีก 271 เมกะวัตต์ ในขณะที่ เฉพาะจังหวัดกระบี่ใช้ไฟฟ้าสูงสุด 150 เมกะวัตต์ หากใช้วิธีนี้ก็จะมีพลังงานเพียงพอและเหลือใช้
ขณะเดียวกันยังสร้างมูลค่าเพิ่มได้อย่างน้อย 5,000 ล้านบาทต่อปี หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจของจังหวัดกระบี่ โดยแนวทางนี้ กลุ่มอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มในจังหวัดกระบี่ จะเพิ่มราคารับซื้อปาล์มอีก 50 สตางค์ต่อกิโลกรัม ซึ่งจะทำให้ชาวสวนปาล์มกระบี่ 26,000 ครัวเรือนมีรายได้เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 57,000 บาทต่อครัวเรือนต่อปี
เมื่อโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มเดินเครื่องจะมีน้ำเสียและเศษปาล์มมาผลิตไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง นอกจากจะได้ไฟฟ้าที่มั่นคงแล้ว การศึกษาของมูลนิธิสุขภาวะยังระบุว่า วิธีนี้ จะช่วยบำบัดน้ำเสีย ลดมลพิษ ลดโลกร้อน และรวมถึงมีปุ๋ยอินทรีย์ไว้ใช้ในการเกษตร
เมื่อศึกษาเปรียบเทียบกับโรงไฟฟ้าถ่านหิน พบว่า จะต้องนำเข้าถ่านหินทุกวัน ต้องใช้เงินประมาณ 7,000 ล้านบาทต่อปี เพื่อซื้อถ่านหินจากเหมืองในต่างประเทศ อย่าง ออสเตรเลีย และอินโดนีเซีย นอกจากนี้ ในกระบวนการผลิตโรงงานไฟฟ้าถ่านหิน ยังจะปล่อยโลหะหนักและมลพิษอื่นๆเพิ่มขึ้น โดยจะมีขี้เถ้าถ่านหินและกากของเสียจากโรงงานผลิตไฟฟ้า อีก 370,000 ตันต่อปีที่ต้องกำจัด
ในประเด็นนี้ มูลนิธินโนบายสุขภาวะระบุว่า โรงงานไฟฟ้าถ่านหินจะทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจก อย่างน้อย 6 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปี ซึ่งต่างจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของจังหวัดกระบี่ ที่ประมาณ 4 ล้านตันต่อปี
ขณะที่ พลโท สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผย ข้อมูลโต้แย้งว่า การผลิตไฟฟ้าด้วยน้ำมันปาล์ม มีต้นทุนสูงถึง หน่วยละ 8 บาท 42 สตางค์ ขณะที่การใช้น้ำมันเตาที่ปัจจุบันโรงไฟฟ้ากระบี่ใช้เป็นเชื้อเพลิง มีต้นทุนอยู่ที่หน่วยละ 3 บาท 78 สตางค์ เท่ากับว่าการใช้น้ำมันปาล์ม แพงกว่าการใช้น้ำมันเตาผลิตไฟฟ้า ถึงหน่วยละเกือบ 5 บาท หากใช้น้ำมันปาล์มเดินเครื่องโรงไฟฟ้ากระบี่เต็มกำลังการผลิตจะผลิตไฟฟ้าได้ 2,400 ล้านหน่วยต่อปี แต่จะทำให้ค่าไฟฟ้าสูงขึ้นประมาณ 11,000 ล้านบาทต่อปี