เชื่อว่าทุกคนคงคุ้นเคยกับ Wi-Fi เทคโนโลยีที่ช่วยให้เราสามารถรับส่งข้อมูล ตลอดถึงการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตโดยไม่ต้องเสียบสายให้ยุ่งยาก แต่รู้หรือไม่ว่า นอกจาก Wi-Fi แล้ว ยังมีเทคโนโลยีการรับส่งข้อมูลบนเครือข่ายที่น่าสนใจไม่แพ้กัน และอาจก้าวขึ้นมาเป็นก้าวสำคัญของโลกอนาคตด้วย นั่นคือ Li-Fi ครับ
Harald Haas
Li-Fi (Light Fidelity) ถูกจุดประกายครั้งแรกบนเวที Ted Talk เมื่อปี 2011 โดย Harald Haas ศาสตราจารย์จาก Edinburgh University แนวคิดของ Li-Fi ถือว่าน่าสนใจมากพอสมควร เนื่องจากข้อมูลจะถูกรับส่งผ่านแสงจากหลอดไฟ LED แทนคลื่นวิทยุ ไปยังตัวรับสัญญาณ (Receiver) ในรูปแบบของ แผงโซลาร์เซลล์ ซึ่งคุณสมบัติของโซลาร์เซลล์ นอกเหนือจากแปลงพลังงานแสงให้กลายเป็นพลังงานไฟฟ้าให้แก่อุปกรณ์ได้แล้ว มันยังทำหน้าที่รับส่งข้อมูลที่ถูกเข้ารหัสไว้ ผ่านเครือข่าย Li-Fi ได้อีกด้วย โดยในงานวิจัยล่าสุดของ Harald Hass ระบุว่า Li-Fi มีประสิทธิภาพในการรับส่งข้อมูลที่ความเร็วเฉลี่ย 1 Gbps และรับส่งข้อมูลได้ที่ความเร็วสูงสุด 100 Gbps ซึ่งนับว่าเร็วกว่าระบบ Wi-Fi ถึง 100 เท่า (งานวิจัยระบุค่าความเร็วเฉลี่ยของ Wi-Fi ไว้ที่ 10 Mbps)
(นาที่ที่ 4.30 เป็นต้นไป)
อ่านอย่างเดียวอาจจะยังไม่เห็นภาพ ทาง Harald Haas จึงได้สาธิตวิธีการทำงานเบื้องต้นของ Li-Fi ให้เราได้เข้าใจแบบง่ายๆ ด้วยการนำหลอด LED มาใช้เป็นตัวกระจายสัญญาณ ผ่านการฉายแสงใส่แผงโซลาร์เซลล์ที่ทำหน้าที่เป็น Receiver ให้แก่แล็ปท็อป เพื่อสตรีมคลิปวิดีโอขึ้นไปฉายบนหน้าจอ ซึ่งก็พบว่า Li-Fi สามารถส่งข้อมูลผ่านหลอด LED ได้เป็นอย่างดี เมื่อลองนำกระดาษมาปิดหน้าแผงโซลาร์เซลล์ไว้ พบว่า วิดีโอได้หยุดเล่นไปชั่วขณะหนึ่ง แต่เมื่อนำกระดาษออกวิดีโอก็เล่นตามปกติ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า Li-Fi ไม่สามารถส่งข้อมูลได้หากแสงไม่ฉายโดนโซลาร์เซลล์โดยตรง
แม้ว่า Li-Fi ที่ทาง Harad Hass ได้นำมาแสดงให้เห็น อาจเป็นเพียงแค่การทดลองรับส่งข้อมูลจากหลอดไฟ LED ไปยัง Receiver ในระยะสั้นๆ เท่านั้น แต่ลองนึกภาพว่า หากในอนาคตมีการนำแผงโซลาร์เซลล์ไปใช้งานอย่างแพร่หลายมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น การนำไปติดตั้งเป็นหลังคาบ้าน หลังคารถยนต์ หรือการนำโซลาร์เซลล์ไปเป็นพลังงานให้กับอุปกรณ์อื่นๆ ก็จะยิ่งทำให้ Receiver ขยายจำนวนมากขึ้นตามไปด้วย ทำให้ท้ายที่สุดแล้ว ทุกสิ่งทุกอย่างบนโลก จะสามารถเชื่อมต่อกับเครือข่ายอินเทอร์เน็ตได้ง่ายขึ้น ตรงกับคอนเซ็ปท์ Internet of Thing หรือ อินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่งนั่นเอง
สำหรับความคืบหน้าของ Li-Fi เริ่มปรากฏเป็นรูปเป็นร่างบ้างแล้ว หลัง Harald Hass ได้ก่อตั้งบริษัท pureLiFi เมื่อปี 2012 พร้อมกับเป้าหมายที่จะก้าวขึ้นเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีการรับส่งข้อความผ่านแสงที่มองเห็นได้ (Visible Light Commuciation) จากนั้นในปี 2014 pureLiFi ได้ผนึกกำลังกับ Lucibel บริษัทสัญชาติฝรั่งเศสที่มีความเชี่ยวชาญด้านไฟ LED โดยเฉพาะ ซึ่งปีต่อมา ทาง pureLiFi ก็ได้เริ่มบุกตลาดแล้ว ด้วยผลิตภัณฑ์ Li-Flame Ceiling Unit และ Li-Flame Desktop และล่าสุด เมื่อปีที่แล้ว pureLi-Fi ได้รับเงินสนับสนุนจาก Temasek เป็นเม็ดเงินกว่า 9.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 312 ล้านบาท ซึ่งน่าจะเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนให้ Li-Fi ประสบความสำเร็จได้ในอนาคต
ส่วนแผนการนำไปใช้งานในวงกว้าง มีรายงานว่า ประเทศดูไบ เริ่มมีการทดสอบการใช้งาน Li-Fi จากผู้ให้บริการเครือข่ายในประเทศอย่าง du และ Zero1 แล้ว ซึ่งทาง du ระบุว่า สามารถส่งข้อมูลเสียง วิดีโอ และอินเทอร์เน็ต ผ่านเครือข่าย Li-Fi ได้สำเร็จ นอกจากนี้ ยังมีการค้นพบว่า Source Code ของ iOS 9.1 เคยกล่าวถึง “LiFiCapability” ด้วย ซึ่งน่าจะเป็นเบาะแสที่ดีว่า ทาง Apple ก็มีความสนใจในเทคโนโลยีดังกล่าว และอาจทำให้ iPhone ในอนาคตอาจรองรับเทคโนโลยี Li-Fi ด้วยนั่นเอง แต่ Li-Fi จะถูกนำไปใช้อย่างแพร่หลาย และก้าวขึ้นมาเป็นมาตรฐานใหม่แทนที่ Wi-Fi ได้ในช่วงเวลาใด คงต้องเอาใจช่วยกันต่อไปครับ