ว่าแล้วกระทรวงการคลังเลยจัดบันทึกลงนามข้อตกลงเดินหน้า National e-Payment อีกขั้น เพื่อหวังให้ไทยก้าวเข้าไปใกล้สังคมไร้เงินสดอีกนิด
ความฝันของกระทรวงการคลัง คือ สังคมไร้เงินสด
การลงนามระหว่าง ก.คลังกับกลุ่มธนาคาร เพื่อวางอุปกรณ์รับชำระเงินผ่านอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ หรือเรียกว่า EDC มีการแบ่งเป็น 2 กลุ่มธนาคาร คือ กลุ่มแรก ธนาคารกรุงเทพ และธนาคารกสิกรไทย จับมือเป็นคู่ดูโอ กลุ่มที่สองประกอบด้วย 5 ธนาคาร คือ ธนาคารกรุงไทย, ธนาคารกรุงศรีอยุธยา, ธนาคารไทยพาณิชย์, ธนาคารทหารไทย และธนาคารธนชาต เรียกว่า กลุ่ม Thai Alliance Payment System หรือ TAPS
ทั้ง 2 กลุ่มธนาคารจะแบ่งกันติดตั้งเครื่อง EDC รวมแล้ว 5.5 แสนเครื่องโดยแบ่งกันกลุ่มละประมาณครึ่งๆ โดย ประมาณ ก.ย. นี้จะติดตั้งให้หน่วยงานราชการต่างๆ แปลว่าเมื่อมาใช้บริการภาครัฐ ก็สามารถจ่ายเงินด้วยบัตรเดบิต หรือบัตรเครดิตได้แล้ว
ส่วนการกระจายไปยังร้านค้ารายย่อยต่างๆ ทั่วประเทศ ครบทั้ง 5.5 แสนเครื่อง มีกำหนดประมาณ มี.ค. 61 แนวคิดนี้เกิดจากการมองว่า เครื่อง EDC เป็นโครงสร้างพื้นฐานการรับชำระเงิน เหมือนตู้ ATM ที่ควรจะร่วมกันลงทุนไปวางตามจุดต่างๆ ไม่ใช่แข่งกันติดตั้ง จากนั้นการแข่งขันเพื่อให้บริการก็ไปอยู่ที่ส่วนอื่น แบบนั้นจะส่งเสริมให้เกิดสังคมไร้เงินสดเร็วขึ้น
ปัจจุบันคนไทยมีบัตรเดบิตประมาณ 54 ล้านใบ แต่มีเครื่องรับบัตรกว่า 4 แสนเครื่อง เทียบกับประเทศพัฒนาแล้วมีมากกว่าไทย 4-5 เท่า อีกประการคือ คนไทยมีบัตรเดบิตกันเยอะมาก แต่คิดว่าเป็นเพียงบัตร ATM ไว้กดเงินสด ดังนั้นนอกจากกระจายเครื่อง EDC แล้ว ต้องทำให้เกิดการใช้งานด้วย
2 กลุ่มธนาคารแข่งดุ กระตุ้นยอดการใช้
กลุ่มแรกคือ ธนาคารกรุงเทพและธนาคารกสิกรไทย ในชื่อ “กิจการการค้าร่วมโครงการอีเพย์เมนต์” จุดแข็งเป็นการกระจายเครื่อง EDC ที่มีอยู่แล้วในร้านค้าต่างๆ เป็นส่วนแบ่ง 70% ต่อไปจะเน้นกระจายในหน่วยงานภาครัฐให้มากขึ้น รวมถึงร้านค้ารายย่อยอื่นๆ เพื่อสร้างความแข็งแกร่งดึงดูดให้ผู้ใช้มาใช้จ่ายผ่านบัตรมากขึ้น
ขณะที่กลุ่มที่สอง คือ กลุ่ม TAPS เป็นความร่วมมือของ 5 ธนาคาร คือ กรุงไทย กรุงศรีอยุธยา ทหารไทย ไทยพาณิชย์ และธนชาต มีจุดเด่นความหลากหลายที่เกิดจาก 5 ธนาคาร ความร่วมมือทำให้ต้นทุนการให้บริการต่ำลง มีการพัฒนานวัตกรรมบริการใหม่ การจัดโปรโมชั่นร่วมกัน
แม้ว่าโครงสร้างพื้นฐานคือ EDC จะใช้ร่วมกัน และจะเกิดการแข่งขันในมิติของการให้บริการ เชื่อว่า 2 กลุ่มธนาคารนี้จะแข่งขันกันดุเดือดเพื่อกระตุ้นยอดการใช้งานแน่นอน เพราะถ้าคนใช้บัตรเครดิตหรือเดบิตมากขึ้น ก็เป็นการลดต้นทุนการจัดการเงินสดให้ธนาคารด้วยเช่นกัน
แล้วร้านค้า – ประชาชนได้ประโยชน์อะไร?
อันดับแรก ประชาชนจะต้องเรียนรู้ว่า บัตร ATM ที่พกติดตัวกันรวมทั้งประเทศ 54 ล้านใบ เป็นบัตรเดบิตที่สามารถใช้ชำระเงินได้ และในอนาคตอันใกล้นี้จะมีเครื่อง EDC กระจายออกไปติดตั้งเพิ่มอีกกว่า 5.5 แสนเครื่อง ไม่ต้องมีเงินสดก็จะจ่ายเงินผ่านบัตรเดบิต
โดยสาระสำคัญคือ มีการปรับลดค่าธรรมเนียมการรับบัตรเดบิต เหลือ 0.55% จากเดิมที่คิดค่าธรรมเนียม 1.5-2.5% และร้านค้าก็ไม่ต้องเสียค่าเช่าหรือค่าติดตั้งอุปกรณ์ (อาจมีค่ามัดจำ ประกันอุปกรณ์เสียหาย) แปลว่าถ้า มีการซื้อสินค้าราคา 100 บาท ก็จะโดนค่าธรรมเนียมการใช้บัตรเดบิตไม่เกิน 55 สตางค์ ซึ่งร้านค้าอาจจะรับภาระให้ผู้ใช้ หรือจะผลักภาระให้ผู้ใช้ก็แล้วแต่ร้าน
เท่ากับว่า ผู้ใช้จะได้รับความสะดวกสบาย และปลอดภัย ไม่ต้องพกเงินสด ไม่ต้องใช้เงินสด และเสียค่าธรรมเนียมจากการใช้บัตรเดบิตลดลงเหลือ 0.55% (เว้นแต่ร้านค้าจะยอมรับภาระนี้ไปเอง) สำหรับทางร้านค้า การรับชำระเงินรูปแบบนี้ จะได้รับเงินทันที (จากบัญชีบัตรเดบิต) ไม่เหมือนบัตรเครดิตที่ต้องรอตัดรอบ ไม่ต้องรับเงินสดให้เสี่ยงในภาพรวมอนาคตอาจมีการต่อยอดมากกว่าแค่การรับชำระเงินค่าสินค้าและบริการ เป็นการรับชำระค่าปรับต่างๆ ในสังคมเพื่อให้เงินเข้าสู่ระบบ ลดการคอรัปชั่นได้ด้วย
สรุป
เรื่องการวางเครื่อง EDC ให้มากขึ้นเพื่อรองรับการใช้บัตรเดบิตของประชาชน คิดค่าธรรมเนียมไม่เกิน 0.55% ฟังดูดี แต่นอกจากต้องผลักดันให้ประชาชนคนไทยใช้บัตรเดบิตแล้ว ก็ต้องบอกให้ยอมรับกับค่าธรรมเนียมเล็กๆ ตรงนั้นด้วย (เพราะจ่ายเงินสด หรือบัตรเครดิต ไม่ค่อยโดน) แต่จริงๆ ถ้าไม่มีการเก็บค่าธรรมเนียมเลยน่าจะดีกว่า และอีกสิ่งที่ต้องไม่ลืมคือ บริการ PromptPay (พร้อมเพย์) ที่โอนเงินหากันไม่เกิน 5,000 บาท ไม่เสียค่าธรรมเนียม ควรผลักดันให้มีการจ่ายเงินด้วย PromptPay (โอนเงินหากันโดยตรง) ก็ไม่ต้องมีค่าธรรมเนียมด้วยอีกทางหนึ่ง