ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัย Linköping ประเทศสวีเดน ประสบความสำเร็จในการสร้าง “ดอกกุหลาบไซบอร์ก” ที่มีคุณสมบัติในการกักเก็บประจุไฟฟ้าจำนวนมากได้แบบแบตเตอรี่ Supercapacitor หวังนำไปประยุกต์ใช้เพื่อผลิตพลังงานสะอาดในอนาคต
กุหลาบไซบอร์กจากห้องทดลองที่มหาวิทยาลัย Linköping
จริงๆ แล้วนี่ไม่ใช่ดอกไม้ไซบอร์กดอกแรก ก่อนหน้านี้เมื่อปลายปี 2015 ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเดียวกันนี้ก็เคยสร้างดอกไม้ไซบอร์กขึ้นมาแล้วเช่นกัน ซึ่งไม่ได้สร้างมาจากเหล็กหรือแผงวงจรแต่สร้างขึ้นโดยการให้ดอกไม้ดูดซับโพลีเมอร์สังเคราะห์ชนิดหนึ่งเข้าไป และโพลีเมอร์นี้จะไปจับกันเป็นโครงสร้างที่นำกระแสไฟฟ้าได้ภายในลำต้น อย่างไรก็ตาม ดอกไม้ไซบอร์กรุ่นแรกมีปัญหาตรงที่โพลีเมอร์สังเคราะห์ที่ดูดซับเข้าไปมีโอกาสอุดตันขณะเคลื่อนที่ไปตามท่ออาหาร ทำให้ไม่สามารถสร้างวงจรไฟฟ้าได้อย่างทั่วถึงทุกส่วน ด้วยเหตุนี้ทีมนักวิจัยจึงคิดค้นโพลิเมอร์ชนิดใหม่ขึ้นมาแทน โดยใช้ชื่อว่า Oligomer ซึ่งมีโมเลกุลเล็กกว่าโพลิเมอร์สังเคราะห์ที่ใช้ก่อนหน้านี้ เมื่อให้ดอกกุหลาบดูดซับเข้าไปก็จะสามารถแทรกซึมไปทุกส่วนได้โดยไม่อุดตัน และเปลี่ยนดอกไม้อันสวยงามให้เป็นวงจรไฟฟ้าได้อย่างสมบูรณ์
นอกจากจะได้ดอกไม้นำไฟฟ้าแล้วยังมีผลพลอยได้ที่น่าทึ่ง เพราะกระแสไฟที่ไหลผ่าน Oligomer ภายในดอกไม้นั้นวิ่งขนานกันและกัน โดยมีเซลล์พืชซึ่งอุดมไปด้วยอิเล็กโทรไลท์อยู่ตรงกลาง สิ่งเหล่านี้คือกุญแจสำคัญในการสร้างแบตเตอรี Supercapacitor ที่สามารถจุพลังงานได้มากในเวลาอันรวดเร็ว
แม้วิทยาการนี้จะยังไม่ก้าวหน้าถึงขนาดที่เราสามารถเสียบปลั๊กชาร์จมือถือกับต้นไม้ได้ แต่เป็นสัญญาณที่ชัดเจนว่าในอนาคตเราอาจไม่ได้ปลูกพืชเพื่อเป็นอาหารหรือเพื่อความสวยงามอีกต่อไป ผืนป่าอาจกลายเป็นเซ็นเซอร์ตรวจสภาพแวดล้อมขนาดใหญ่ หรือแบตเตอรีขนาดเล็กที่ให้พลังงานสูง ราคาถูก และย่อยสลายได้ตามธรรมชาติสำหรับสมาร์ทโฟนและแก็ดเจ็ต
ท้ายที่สุดแล้ว เราอาจต่อยอดวิทยาการนี้จนสามารถนำการสังเคราะห์แสงในพืชมาใช้ผลิตพลังงานจากแสงอาทิตย์ได้โดยไม่ต้องตั้งแผงโซลาร์เซลล์กันเป็นไร่ๆ อีกต่อไป